ประวัติสังคีตกวีด้านดนตรีไทย

    พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน)

พระยาเสนาะดุริยางค์เป็นบุตรคนโตของครูช้อย และนางไผ่ สุนทรวาทิน. ได้ฝึกฝนวิชาดนตรีจากครูช้อยผู้เป็นบิดา จนมีความแตกฉาน ต่อมาเจ้าพระยาเทเวศน์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร) ได้ขอตัวมาเป็นนักดนตรีในวงปี่พาทย์ของท่าน. ท่านเข้ารับราชการ เมื่อ พ.ศ. 2422 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนเสนาะดุริยางค์ในปี พ.ศ. 2446 ตำแหน่งเจ้ากรมพิณพาทย์หลวงจึงโปรดให้เลื่อนเป็น หลวงเสนาะดุริยางค์ในปี พ.ศ. 2453 ในตำแหน่งเดิมจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เลื่อนเป็น พระเสนาะดุริยางค์รับราชการในกรมมหรสพหลวง และได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ด้วยความซื่อสัตย์ และมีความจงรักภักดี ท่านจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาเสนาะดุริยางค์ในปี พ.ศ. 2468
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้รับมอบหมายให้ควบคุมวงพิณพาทย์ของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง วงพิณพาทย์วงนี้ นับได้ว่าเป็นการรวบรวมผู้มีฝีมือ ซึ่งต่อมาได้เป็นครูผู้ใหญ่ เป็นที่รู้จักนับถือโดยทั่วไป เช่น ครูเทียบ คงลายทอง ครูพริ้ง ดนตรีรส ครูสอน วงฆ้อง ครูมิ ทรัพย์เย็น ครูแสวง โสภา ครูผิว ใบไม้ ครูทรัพย์ นุตสถิตย์ ครูอรุณ กอนกุล ครูเชื้อ นักร้อง และครูทองสุข คำศิริ
ด้านครอบครัว ท่านสมรสกับ คุณหญิงเรือน เสนาะดุริยางค์ ซึ่งมาจากตระกูลมอญบางไส้ไก่ มีบุตร-ธิดา 4 คน คือ
  • คุณเลียบ บุณยรัตพันธุ์
  • คุณเลื่อน ผลาสินธุ์
  • นายเชื้อ สุนทรวาทิน
  • คุณเจริญใจ เลขะกุล
และมีบุตร-ธิดา กับภรรยาท่านก่อนอีก 2 คน คือ
  • คุณช้า สุนทรวาทิน
  • นายเชื่อง สุนทรวาทิน
พระยาเสนาะดุริยางค์ ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. 2492 เมื่อมีอายุได้ 83 ปี



    หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) (6 สิงหาคม พ.ศ. 2424 - 8 มีนาคม พ.ศ. 2497) เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2424 เป็นบุตรของ นายสิน นางยิ้ม ศิลปบรรเลงเนื่องจากบิดาคือครูสินเป็นเจ้าของวงปี่พาทย์ และเป็นศิษย์ของพระประดิษฐไพเราะในปี พ.ศ. 2443 ขณะเมื่ออายุ 19 ปี ท่านได้แสดงฝีมือเดี่ยวระนาดเอกถวายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช เป็นที่ต้องพระทัยมาก จึงทรงรับตัวเข้ามาไว้ที่วังบูรพาภิรมย์ ทำหน้าที่คนระนาดเอก ประจำวงวังบูรพาไปด้วย พร้อมกับสมเด็จท่านได้ เชิญครูมาสอนที่วัง คือ พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เนื่องจากจางวางศร ได้รับพระกรุณาจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช เป็นอย่างมาก ทรงจัดหาครูที่มีฝีมือมาฝึกสอน ทำให้จางวางศรมีฝีมือกล้าแข็งขึ้นในสมัยนั้นไม่มีใครมีฝีมือเทียบเท่าได้เลย.
จางวางศร ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นหลวงประดิษฐไพเราะ ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2468 ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่เคยรับราชการอยู่ในกรมกองใดมาก่อน ทั้งนี้ก็เพราะฝีมือและความสามารถของท่าน เป็นที่ต้องพระหฤทัยนั่นเอง
ครั้นถึงปี พ.ศ. 2469 ท่านได้เข้ารับราชการในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง กระทรวงวัง ท่านได้มีส่วนถวายการสอนดนตรีให้กับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี รวมทั้งมีส่วนช่วยงานพระราชนิพนธ์เพลงสามเพลง คือ เพลงราตรีประดับดาวเถา เพลงเขมรละออองค์เถา และ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง สามชั้น.
 เพลงได้แต่งไว้
หลวงประดิษฐไพเราะ ได้แต่งเพลงไว้มากกว่าร้อยเพลง ดังนี้:
  • เพลงโหมโรง : โหมโรงกระแตไต่ไม้ โหมโรงปฐมดุสิต โหมโรงศรทอง โหมโรงประชุมเทวราช โหมโรงบางขุนนท์ โหมโรงนางเยื้อง โหมโรงม้าสยบัดกีบ และโหมโรงบูเซ็นซ๊อค เป้นต้น
  • เพลงเถา : กระต่ายชมเดือนเถา ขอมทองเถา เขมรเถา เขมรปากท่อเถา เขมรราชบุรีเถา แขกขาวเถา แขกสาหร่ายเถา แขกโอดเถา จีนลั่นถันเถา ชมแสงจันทร์เถา ครวญหาเถา เต่าเห่เถา นกเขาขแมร์เถา พราหมณ์ดีดน้ำเต้าเถา มุล่งเถา แมลงภู่ทองเถา ยวนเคล้าเถา ช้างกินใบไผ่เถา ระหกระเหินเถา ระส่ำระสายเถา ไส้พระจันทร์เถา ลาวเสี่งเทียนเถา แสนคำนึงเถา สาวเวียงเหนือเถา สาริกาเขมรเถา โอ้ลาวเถา ครุ่นคิดเถา กำสรวลสุรางค์เถา แขกไทรเถา สุรินทราหูเถา เขมรภูมิประสาทเถา แขไขดวงเถา พระอาทิตย์ชิงดวงเถา กราวรำเถา ฯลฯ
หลวงประดิษฐไพเราะถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2497 รวมอายุ 73 ปี
ชีวประวัติของท่านเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่องโหมโรง

          พระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร)

 
          พระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) หรือ ครูมีแขก เกิดตอนปลายรัชกาลที่ 1 แห่งพระราชวงศ์จักรี ท่านเป็นครูดนตรีมาตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 นั้น ครูมีแขกได้เป็นครูปี่พาทย์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประดิษฐไพเราะ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2396 ตำแหน่งปลัดจางวางมหาดเล็กว่าราชการกรมปี่พาทย์ ฝ่ายพระบวรราชวัง ในปีเดียวกันนั้นเองท่านได้แต่งเพลงเชิดจีน แล้วนำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด้จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่สมพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งจึงโปรดให้เลื่อนบรรดาศักดิ์จากหลวงเป็นพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) ได้รับสมญาว่าเป็นเจ้าแห่งเพลงทยอย เพราะผลงานเพลงลูกล้อลูกขัด เช่น ทยอยนอก ทยอยเขมร ล้วนเป็นผลงานของท่านทั้งนั้น
                ผลงาน        ของพระประดิษฐไพเราะ (ครูมีแขก) เท่าที่รวบรวมและปรากฏไว้ มีดังนี้
โหมโรงขวัญเมือง การะเวกเล้ก สามชั้น กำสรวลสุรางค์ สามชั้น แขกบรรทศ สามชั้น แขกมอญ สามชั้น แขกมอญบางช้าง สามชั้น ทะแย สามชั้น สารถี สามชั้น พญาโศก สามชั้น และสองชั้น พระอาทิตย์ชิงดวง สองชั้น จีนขิมใหญ่ สองชั้น เชิดจีน ทยอยนอก ทยอยเดี่ยว ทยอยเขมร เทพรัญจวน หกบท สามชั้น อาเฮีย สามชั้น
ท่านถึงแก่กรรม ประมาณรัชกาลที่ 5