เครื่องดนตรีไทย

      เครื่องดนตรี  คือ อุปกรณ์ที่สร้างขึ้นมา หรือปรับจากอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อใช้งานสำหรับการผลิตเสียงดนตรีหรือสร้างเสียงสำหรับใช้ประกอบในการร้องรำทำเพลง โดยหลักการแล้ว อุปกรณ์ใดก็ตามที่สามารถนำมาใช้ผลิตเสียงดนตรี ย่อมเรียกว่า เครื่องดนตรี ได้ทั้งสิ้น ผู้ที่ใช้เครื่องดนตรีนั้น เราเรียกว่า นักดนตรี
 เครื่องดนตรี  ไทยแบ่งตามลักษณะการทำให้เกิดเสียงได้เป็น 4 ประเภท คือ ดีด สี ตี เป่า
เครื่องดีด
     จะเข้
           จะเข้ เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีด มี 3 สาย เข้าใจว่าได้ปรับปรุงแก้ไขมาจากพิณ คือ กระจับปี่ซึ่งมี 4 สาย นำมาวางดีดกับพื้นเพื่อความสะดวก จะเข้ได้นำเข้าร่วมบรรเลงอยู่ในวงมโหรีคู่กับกระจับปี่ในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้นิยมเล่นจะเข้กันมาก ทำให้กระจับปี่ค่อย ๆ หายไปในปัจจุบัน เนื่องจากหาผู้เล่นเป็นน้อยตัวจะเข้ทำเป็นสองตอน คือตอนหัวและตอนหาง โดยลักษณะทางตอนหัวเป็นกระพุ้งใหญ่ ทำด้วยไม้แก่นขนุน หนาประมาณ 12 ซม. ยาวประมาณ 52 ซม. และกว้างประมาณ 11.5 ซม. ท่อนหัวและท่อนหางขุดเป็นโพรงตลอด รวมทั้งสิ้นมีความยาวประมาณ 130 132 ซม. ปิดใต้ทองด้วยแผ่นไม้ มีเท้ารองตอนหัว 4 เท้า และตอนปลายปางอีก 1 เท้า วัดจากปลายเท้าถึงตอนบนของตัวจะเข้ สูงประมาณ 19 ซม. ทำหลังนูนตรงกลางให้สองข้างลาดลง โยงสายจากตอนหัวไปทางตอนหางเป็น 3 สาย มีลูกบิดประจำสายละ 1 อัน สาย 1 ใช้เส้นลวดทองเหลือง อีก 2 สายใช้เส้นเอ็น มีหย่องรับสายอยู่ตรงปลายหางก่อนจะถึงลูกบิด ระหว่างตัวจะเข้มีแป้นไม้เรียกว่า นม รองรับสายติดไว้บนหลังจะเข้ รวมทั้งสิ้น 11 อัน เพื่อไว้เป็นที่สำหรับนิ้วกดนมแต่ละอันสูง เรียงลำดับขึ้นไป ตั้งแต่ 2 ซม. จนสูง 3.5 ซม.
       เวลาบรรเลงใช้ดีดด้วยไม้ดีดกลมปลายแหลมทำด้วยงาช้างหรือกระดูกสัตว์ เคียนด้วยเส้นด้ายสำหรับพันติดกับปลายนิ้วชี้ข้างขวาของผู้ดีด และใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลางช่วยจับให้มีกำลัง เวลาแกว่งมือส่ายไปมา ให้สัมพันธ์ กับมือข้างซ้ายขณะกดสายด้วย
 เครื่องตี
      ระนาดเอก

           ระนาดเอกเป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ที่วิวัฒนาการมาจากกรับ แต่เดิมคงใช้กรับสองอันตีเป็นจังหวะ ต่อมาก็เกิดความคิดว่า ถ้าเอากรับหลาย ๆ อันวางเรียงราดลงไป แล้วแก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน แล้วทำรางรองอุ้มเสียง และใช้เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่าง ๆ กันนั้นให้ติดกัน และขึงไว้บนรางใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง นำตะกั่วผสมกับขี้ผึ้งมาถ่วงเสียงโดยนำมาติดหัวท้ายของไม้กรับนั้น ให้เกิดเสียงไพเราะยิ่งขึ้น เรียกไม้กรับที่ประดิษฐ์เป็นขนาดต่างๆกันนั้นว่า ลูกระนาด เรียกลูกระนาดที่ผูกติดกันเป็นแผ่นเดียวกันว่า ผืน
ลูกระนาดนี้ทำด้วย ไม้ชิงชัน หรือไม้แก่น เช่น ไม้ไผ่บง ไม้มะหาด ไม้พะยูงก็ได้ โดยนำมาเหลาให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ แล้วทำรางเพื่ออุ้มเสียงเป็นรูปคล้ายลำเรือ ให้หัวและท้ายโค้งขึ้น เรียกว่า รางระนาด แผ่นไม้ที่ปิดหัวท้ายรางระนาดเราเรียกว่า โขน ระนาดเอกในปัจจุบันมีจำนวน 21 ลูก ลูกต้นมีขนาด 39 ซม กว้างราว 5 ซม และหนา 1.5 ซม มีขนาดลดหลั่นลงไปจนถึงลูกที่ 21 หรือลูกยอดที่มีขนาด 29 ซม เมื่อนำผืนระนาด มาแขวนบนรางแล้ว หากวัดจากโขนหัวรางข้างหนึ่งไปยังโขนหัวรางอีกข้างหนึ่ง จะมีความยาวประมาณ 120 ซม มีเท้ารองรางเป็นเท้าเดี่ยว รูปคล้ายกับพานแว่นฟ้า
ระนาดเอกใช้ในวงปี่พาทย์และวงมโหรี โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำ
 เครื่องสี
         ซอด้วง

           ซอด้วงเป็นซอสองสาย มีเสียงแหลม ก้องกังวาน คันทวนยาวประมาณ 72 ซม คันชักยาวประมาณ 68 ซม ใช้ขนหางม้าประมาณ 120 150 เส้น กะโหลกของ ซอด้วงนั้น แต่เดิมใช้กระบอกไม้ไผ่มาทำ ปากกระบอกของซอด้วงกว้างประมาณ 7 ซม ตัวกระบอกยาวประมาณ 13 ซม กะโหลกของซอด้วงนี้ ในปัจจุบันใช้ไม้จริง หรือ งาช้างทำก็ได้
แต่ที่นิยมว่าเสียงดีนั้น กะโหลกซอด้วงต้องทำด้วยไม้ลำเจียก ส่วนหน้าซอนิยมใช้หนังงูเหลือมขึง เพราะทำให้เกิดเสียงแก้วเกิดความไพเราะอย่างยิ่ง ลักษณะของซอด้วง มีรูปร่างเหมือนกับซอของจีนที่เรียกว่า ฮู ฉิน (Huchin) ทุกอย่าง เหตุที่เรียกว่า ซอด้วง ก็เพราะมีรูปร่างคล้ายเครื่องดักสัตว์ เพราะตัวด้วงดักสัตว์ ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่เหมือนกีน จึงได้เรียกชื่อไปตามลักษณะนั้นนั่นเอง
สายซอด้วงนั้น มีเพียงสองสายและมีเสียงอยู่ สองเสียง คือสายเอกจะเป็นเสียง "เร" ส่วนสายทุ้มจะเป็นเสียง "ซอล" โดยใช้สายไหมฟั่นหรือว่าสายเอ็นก็ได้
ซอด้วงใช้ในวงเครื่องสาย วงมโหรี โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำวงและเป็นหลักในการดำเนินทำนอง
   เครื่องเป่า
      ขลุ่ย

        ขลุ่ย เป็นเครื่องดนตรีดั้งเดิมของไทย ทำด้วยไม้ไผ่ปล้องยาวๆ ไว้ข้อทางปลายแต่เจาะทะลุข้ออย่างไฟให้แห้งแล้วตบแต่งผิวให้ ไหม้เกรียมเป็นลวดลายสวยงาม ด้านหน้าเจาะรูกลมๆเรียงแถวกัน 7 รู สำหรับนิ้วปิดเปิดเสียง ขลุ่ยไม่มีลิ้นเหมือนปี่ แต่เขาใช้ไม้อุดเต็มปล้อง แล้วปาดด้านล่างให้มีช่อง ไม้อุดนี้เรียกว่า ดาก ทำด้วยไม้สักเพราะไม่มีขุยมาบังลม ด้านหลังใต้ดากลงมา เจาะรูเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ปาดตอนล่างเป็นทางเฉียงไม่เจาะ ทะลุตรงเหมือนรูด้านหน้า รูที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้ เรียกว่า รูปากนกแก้ว ใต้รูปากนกแก้วลงมา เจาะรูอีก 1 รู เรียกว่า รูนิ้วค้ำ เพราะเวลาเป่า ผู้เป่าจะใช้หัวแม่มือค้ำปิดเปิดที่รูนี้ เหนือรูนิ้วค้ำด้าน หลัง และเหนือรูบนของรูด้านหน้าทั้งเจ็ดรู แต่อยู่ทางด้านขวา เจาะรูอีกรูหนึ่งเรียกว่า รูเยื่อ เพราะแต่ก่อนจะใช้เยื่อไม้ไผ่ปิดรูนี้ ต่อมาก็ไม่ค่อยได้ใช้ ตรงปลายเลาขลุ่ยจะเจาะรูให้ซ้ายขวา ตรงกันเพื่อร้อยเชื่อก เรียกว่า รูร้อยเชือก ดังนั้น จะสังเกตว่า ขลุ่ย 1 เลา จะมีรูทั้งสิ้น 14 รู
ขลุ่ยมีทั้งหมด 3 ชนิดคือ
1.      ขลุ่ยหลีบ มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 36 ซม. กว้างประมาณ 2 ซม.
2.      ขลุ่ยเพียงออ มีขนาดกลาง ยาวประมาณ 45 46 ซม. กว้างประมาณ 4 ซม.
3.      ขลุ่ยอู้ มีขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 60 ซม. กว้างประมาณ 4 5 ซม.
ต่อมามีผู้สร้างขลุ่ยกรวดขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง มีเสียงสูงกว่าขลุ่ยเพียงออ 1 เสียง ขลุ่ยกรวดใช้กับวงเครื่องสายผสมที่นำเอาเครื่องดนตรีฝรั่ง มาเล่นร่วมวง